วิธีอ่านหนังสือให้เข้าใจ ในแบบของครูโอ้

การอ่านเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ศึกษาหาความรู้ วิธีการอ่านอย่างไรให้เข้าใจในเรื่องที่อ่าน สามารถจับประเด็นที่สำคัญได้ สามารถนำข้อมูล ไปใช้คิดวิเคราะห์ในการทำข้อสอบ และใช้ประกอบการคิด ตัดสินใจ ในชีวิตประจำวัน หลายคนมักบ่นกันประจำว่า อ่านแล้วจำไม่ได้ อ่านแล้วไม่เข้าใจ

  • กรณีอ่านแล้วจำไม่ได้ เพราะไม่มีสมาธิในขณะอ่าน คืออ่านให้มันจบๆ ไป เท่านั้น อ่านเอาปริมาณ ว่าได้อ่าน ไม่ได้เน้นคุณภาพของการอ่าน มันก็จำไม่ได้ หรือบางคนก็อ่านแบบจำ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง อาศัยจำเอาเป็นประโยค เป็นถ้อยคำ คือไม่เข้าใจที่มาที่ไป ไม่เข้าใจเนื้อหา เมื่อเวลาผ่านไปซักพักก็ลืม หรือบางครั้งหกล้มก็ลืมแล้ว แต่การจำแบบนี้ ไม่มีประโยชน์ในการนำไปใช้ เพราะ ไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน ก็จะนำไปใช้ไม่เป็น นำไปใช้สอบในห้องเรียนก็ได้เฉพาะส่วนของความจำแบบตรงๆ พลิกแพลงก็ไม่ได้ เรียกว่าเรียนจบไป ก็ลืมหมด หรือ คืนครูหมดแล้ว ประมาณนั้น
  • ส่วนกรณีอ่านแล้วไม่เข้าใจ กรณีนี้เป็นเพราะ ตัวเราเองนั้นมีพื้นฐานเรื่องที่กำลังอ่านนั้น ไม่ดีหรือมีน้อยเกินไป ไม่สามารถรับรู้เรื่องใหม่ต่อไปได้ มันต่อไม่ติด วิธีการแก้ให้กลับไปอ่านทบทวนหรือรื้อฟื้นเรื่องที่เกี่ยวข้องมาก่อน เรียกว่า ปรับพื้นฐานให้พร้อมที่จะรับเนื้อหาใหม่ต่อไป “ไม่ใช่สมองเราไม่ดีแต่อย่างใด” เพียงแต่พื้นฐานเราไม่พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่เท่านั้นเอง

วิธีอ่านหนังสือของครูโอ้ นั้น ไม่ได้พิเศษอะไร มีลำดับขั้นง่ายๆ ดังนี้

  1. ถ้าอ่านเรื่องนี้ไม่เข้าใจ แสดงว่าเราต้องไปอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องย้อนหลังมาก่อน เรียกว่า อ่านเรื่องที่ผ่านมาก่อน ถ้าไม่เข้าใจอีกก็ย้อนกลับไปเรื่อยๆ เมื่อเริ่มเข้าใจแล้ว ก็ค่อยๆ อ่าน เรื่องต่อๆ มา เพียงเท่านี้เราก็จะเข้าใจ ปัญหาของคนทั่วไป มักขี้เกียจ ไม่อยากอ่านย้อนหลัง ฝืนอ่านไปข้างหน้าอย่างเดียว มันก็จะสะสม ความไม่เข้าใจมากขึ้น ๆๆๆ จนอาจมาก มากจนท้อใจ เช่น นักเรียนบางคน เพิ่งจะเริ่มอ่านหนังสือออก ตอนเรียนอยู่ชั้น ป. 3 แสดงว่านักเรียนคนนี้ขาดพื้นฐานความรู้ตั้งแต่ อนุบาล มาจนถึง ป. 2 (แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง) เมื่อเรียนชั้น ป. 3 บางเรื่องก็จะอ่านไม่เข้าใจ วิธีแก้ต้องกลับไปอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องย้อนหลัง ทำความเข้าใจมาเรื่อยๆ ก็จะทันชั้นเรียนและทันเพื่อนๆ ในระดับเดียวกัน ฉะนั้นถ้านักเรียนรู้ตัวซะแต่วันนี้ก็กลับไปทบทวน อ่านทำความเข้าใจย้อนหลังไปซะ ก่อนจะสะสมไว้มาก เกินไป
  2. อ่านอย่างไรให้เข้าใจและนำไปใช้ได้ วิธีอ่านของครูโอ้ ก็ไม่ยาก ใครๆ ก็ทำได้ แต่ต้องใช้เวลา และความตั้งใจจริง ซึ่ง ถ้านักเรียนทำจนเป็นนิสัย มันจะอัตโนมัติไปเอง ครูโอ้จะแนะให้เป็นข้อๆ ดังนี้
    • เมื่อหยิบหนังสืออ่าน ให้มีสติ รู้ตัวว่าตนเองกำลังอ่านหนังสืออยู่ ไม่วอกแวก ตัดสิ่งรบกวนรอบข้างออกไป
    • มีสมาธิ จดจ่ออยู่กับเรื่องที่อ่าน บางคนไม่เข้าใจว่ามีสมาธิเป็นแบบไหน สมาธิที่ว่า แม้มีใครมาพูดใกล้หู ขณะเราอ่านหนังสือเราก็จะไม่ได้ยินเสียงนั้น แม้มีใครมาเปิดการ์ตูนดูใกล้ๆ เราก็จะไม่รับรู้เนื้อเรื่องของการ์ตูนนั้น ถ้าเราได้ยินเสียงคนคุยกัน หรือจับคำพูดของการ์ตูนได้ แสดงว่าเรายังไม่มีสมาธิ ฉะนั้นถ้าใครมีสมาธิดี หรือฝึกสมาธิมาดี นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดี ถ้าใครรู้ตัวว่าทำไม่ได้ ก็หาสถานที่ที่เงียบสงบ ปราศจากสิ่งรบกวน ในกรณีเนื้อหาที่ยาก ซับซ้อนต้องการสมาธิสูง คนที่มีสมาธิดีๆ ที่สามารถตัดสิ่งรบกวนได้ดี ก็ยังต้องการสถานที่ที่สงบเหมาะสม เช่นกัน เรียกว่า เรื่องที่ซับซ้อน ต้องคิดหลายชั้น ถ้ามีเรื่องวอกแวก ต้องกลับมาเริ่มคิดชั้นแรกใหม่ ซ้ำไปซ้ำมา เสียเวลา และก็จะไม่เข้าใจ ถ้าไม่มีสิ่งรบกวน ก็จะคิดได้เร็วขึ้น อันนี้ขึ้นกับระดับมันสมองของแต่ละคนด้วย
    • ถ้ายังไม่เข้าใจอีก ให้ทำเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ไว้ว่าตรงนี้ยังไม่เข้าใจ เช่น วงกลมด้วยดินสอ แล้วนำกระดาษมาขั้นหน้าของหนังสือไว้ด้วย (เพื่อเตือนตัวเองไว้ว่าเรื่องนี้พื้นฐานเรายังไม่ดี ต้องกลับไปอ่านย้อนหลัง ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือไว้ถามครู ถามผู้รู้ อย่าปล่อยข้ามไปเฉยๆ) แล้วอ่านเรื่องต่อไปเรื่อย ๆ บางครั้งอาจทำให้เข้าใจเนื้อหาย้อนหลังได้เช่นกัน แต่ถ้าอ่านไปแล้วไม่เข้าใจอีก ก็ทำเช่นเดิม แล้วก็อ่านต่อไปอีก ถ้ายิ่งอ่านยิ่งไม่เข้าใจ อย่าฝืนให้ย้อนกลับไปอ่านทบทวน เรื่องราวย้อนหลังก่อน แล้วค่อยมาอ่านเนื้อหานี้ต่อไป

ซึ่งจุดนี้ บางคนเรียนเนื้อหานี้ที่ ม. 3 แต่มีพื้นฐานเรื่องนี้อยู่เพียง ม. 1 อย่างนี้ นักเรียนก็ต้องย้อนกลับไปอ่านหนังสือ เนื้อหาตอน ม. 1 ก่อน บางคนท้อใจ โอ้ โฮ ใครจะไปอ่านไหว ตั้งเยอะแยะ
จริงๆ แล้ว เราจะอ่านหนังสือเหล่านี้ได้เร็วกว่าปกติ เพราะเราเคยเรียนมาแล้ว มีพื้นฐานมาบ้างแล้ว มีบางส่วนเท่านั้นที่เราต้องทำความเข้าใจใหม่ ฉะนั้นมันไม่ได้เสียเวลา หรือว่า ยากอย่างที่คิดไปเอง

    • หลังจากอ่านเข้าใจแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการฝึกฝน นำความรู้ที่ได้ไปทดลองใช้ ว่าที่เราเข้าใจนั้น เข้าใจถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ โดยการฝึกทำโจทย์แบบฝึกหัด แบบทดสอบ ฝึกมากๆ ก็จะตอกย้ำให้เราจำได้แม่นยำขึ้น สามารถนำความรู้ไปสอบในชั้นเรียน สอบแข่งขัน สอบเข้าเรียนต่อ สอบเข้าทำงาน สอบชิงทุน ที่ต้องแข่งขันสูงๆ ได้ และยังสามารถนำไปใช้คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ ในชีวิตประจำวันได้

การฝึกทำโจทย์แบบฝึกหัด มันก็มีขั้นตอน เลือกแบบฝึกเหมือนกัน โดยต้องเริ่มจาก

  1. เลือกโจทย์แบบฝึกหัด ที่มีคำถามเฉพาะเรื่องที่อ่าน ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา ทำมากๆ หลายๆ รอบ จนคล่อง (ไม่เปิดดูเฉลยก่อน)
  2. เลือกโจทย์แบบฝึกหัด ที่มีความซับซ้อนขึ้น มีสถานการณ์ให้คิดวิเคราะห์ ทำมากๆ จนคล่อง
  3. เลือกโจทย์แบบฝึกหัด ที่มีปัญหาระคนกัน คือมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สอดคล้องกันด้วย ขั้นนี้เป็นการฝึกฝนให้เรา สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ส่วนใหญ่โจทย์ ที่ใช้แข่งขัน ในรายการที่มีการแข่งขันกันสูงๆ จะเป็นโจทย์ประเภทนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนมักฝึกไม่ถึงขั้นนี้ ทำให้สอบแข่งขันได้คะแนนไม่ดี
  4. เมื่อนักเรียนฝึกขั้นที่ 3 บ่อยๆ นักเรียนจะเกิดทักษะ และนักเรียนจะค้นพบว่า มีวิธีลัด และ สูตรลัด เกิดขึ้นด้วยตนเอง เพราะว่าทำบ่อยเข้า บ่อยเข้า หลากหลายโจทย์ เราก็จะสามารถจับทางโจทย์ปัญหาได้ วิธีฝึกขั้นนี้ให้นักเรียนหาโจทย์เนื้อหาที่อ่าน ที่เป็นข้อสอบแข่งขันในระดับต่างๆ มาฝึก จากปีปัจจุบันย้อนหลังไปอดีต หลายๆ ปี ทำซ้ำๆ วนปี ไปมา โดยไม่ดูคำตอบก่อน นักเรียนจะพบบว่า นักเรียนจะมีทักษะการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว อ่านโจทย์แล้วสามารถวิเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา เป็นขั้นเป็นตอน ได้เลย จะเหลือก็เพียงแต่คำตอบเท่านั้น ที่เรายังไม่ได้ลงมือคิดออกมา

ใครจะนำวิธีการอ่านหนังสือแบบนี้ ของครูโอ้ ไปใช้ ก็สามารถนำไปใช้ได้เลย ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ใครที่นำไปใช้แล้วได้ผล ก็ให้แนะนำต่อๆ กันไปด้วย ส่วนใครใช้แล้วไม่ได้ผล ไม่ใช่ว่าตนเองโง่ ที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ เพียงแต่วิธีของครูโอ้นี้ อาจไม่ตรงกับการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองก็เป็นได้ ให้หาวิธีการอื่นๆ ซึ่งจะมีวิธีที่เหมาะสมกับเรา ซักวิธีจนได้ ขอเพียงอย่าท้อ มีความตั้งใจจริง ครูโอ้เป็นกำลังใจให้นักเรียนที่ตั้งใจจริงเสมอ….

ครูโอ้ออนไลน์

Comments

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

* 0+8=?