วิถีชีวิตของชุมชนคนกระโทก

สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตกำเนิดเกิดมาจากเผ่าพันธุ์ เชื้อสายของคนต่อๆกันมา หาที่มาบุคคลที่กำเนิดและมาอยู่ทีโชคชัยเป็นคนแรกเป็นใครมาจากไหนไม่มีการบันทึกไว้ เอาเป็นว่านับจากนี้
ถอยหลังไป 109 ปี จะมีที่ว่าการอำเภอกระโทก ก็มีบุคคลอาศัยอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ตามวิธีของสัตว์โลก มนุษย์อาศัยอยู่ในท้องผู้กำเนิด โดยปกติเพียงเก้าเดือน วิถีชีวิตในอดีตทางด้านการแพทย์ คนที่จะมาทำการคลอด ให้เรียกว่า หมอตำแย หญิงผู้ทำคลอดตามแผนโบราณ ในภาษาไทย คำว่า "ตำแย" มาจากชื่อของภิกษุรูปหนึ่ง คือ "มหาเถรตำแย" ซึ่งเป็นผู้แต่งตำราว่าด้วยวิชาคลอดอันเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ปฐมจินดา เมื่อคลอดลูกแล้วผู้เป็นสามีจะเอาไม้มากั้นเป็นรูปสี่เหลียมแล้วเอาดินใส่ให้เต็มแล้วก่อไฟ ให้คนคลอดนินข้างกองไฟ เรียกว่า อยู่ไฟ จะนอนอย่างนี้ประมาณ7-15 วัน ระหว่างอยู่ไฟต้องกินน้ำร้อนผสมเกลือ ห้ามกินอย่างอื่น หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีน้ำนมเป็นสีเหลืองออกมา แต่จะบีบทิ้งไม่ให้ลูกกิน จนกว่าน้ำนมจะมีสีขาวขุ่น บางคนอยู่ในระยะอยู่ไฟ จะมีผีกระสือมากวนลักษณะเหมือนคนลอยมาทำให้คนคนคลอดตกใจและช็อกหมดสติ ดังนั้นคนอยู่ไฟต้องมีด้ายสายสิญจน์คล้องคอ เมื่อลูกเริ่มโตประมาณ 3 เดือนก็จะเริ่มให้กินข้าว ข้าวที่นำมารับประทานได้ผ่านขั้นตอนมากมายที่บ้านกระโทกข้าวที่ปลูกมี 2 ชนิด คือ ข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว

วิธีการทำนาปลูกข้าว

การปลูกข้าวไร่

หมายถึง การปลูกข้าวบนที่ดอนและไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ชนิดของข้าวที่ปลูก เรียกว่า ข้าวไร่ พื้นที่ดอนส่วนมาก เช่น เชิงภูเขามักจะไม่มีระดับ คือ สูง ๆ ต่ำ ๆ
จึงไม่สามารถไถเตรียมดินและปรับระดับได้ง่าย ๆ เหมือนกับพื้นที่ราบ เพราะฉะนั้น ชาวนามักจะปลูกแบบหยอด โดยขั้นแรกทำการตัดหญ้าและต้นไม้เล็กออก ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะปลูก แล้วใช้หลักไม้ปลายแหลมเจาะดินเป็นหลุมเล็กๆ ลึกประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปากหลุมมีขนาดกว้างพอที่จะหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปได้ 5-10 เมล็ด หลุมนี้มีระยะห่างกันประมาณ 25 เซนติเมตร จะต้องหยอดเมล็ดพันธุ์ทันทีหลังจากที่ได้เจาะหลุม หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์แล้วจะใช้เท้ากลบดินปากหลุม เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดได้รับความชื้นก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นข้าว เนื่องจากที่ดอนไม่มีน้ำขังและไม่มีการชลประทาน การปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว พื้นดินที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันทีเมื่อสิ้นฤดูฝน ดังนั้น การปลูกข้าวไร่จะต้องใช้พันธุ์ที่มีอายุเบา โดยปลูกในต้นฤดูฝน และแก่เก็บเกี่ยวได้ในปลายฤดูฝน การปลูกข้าวไร่ชาวนาจะต้องหมั่นกำจัดวัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม เนื้อที่ที่ใช้ปลูกข้าวไร่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยและมีปลูกมากในภาคเหนือภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลางปลูกข้าวไร่น้อยมาก

การปลูกข้าวนาดำ

การปลูกข้าวในนาดำ เรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งออกได้เป็นสองตอน ตอนแรก ได้แก่ การตกกล้าในแปลงขนาดเล็ก และตอนที่สอง ได้แก่ การถอนต้นกล้าเอาไปปักดำในนาผืนใหญ่

1. การเตรียมดิน ต้องทำการเตรียมดินให้ดีกว่าการปลูกข้าวไร่ โดยมีการไถดะ การไถแปร และการคราด ปกติการไถและคราดในนาดำมักจะใช้แรงวัว ควาย หรือแทรกเตอร์ขนาดเล็ก
ที่เรียกว่า ควายเหล็กหรือไถยนต์เดินตามทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่นาดำนั้นได้มีคันนาแบ่งกั้นออกเป็นแปลงเล็ก ๆ ขนาด 1-2 ไร่ คันนามีไว้สำหรับกักเก็บน้ำหรือปล่อยน้ำทิ้งจากแปลงนา นาดำจึงมีการบังคับระดับน้ำในนาได้บ้างพอสมควร ก่อนที่จะทำการไถ ต้องรอให้ดินมีความชื้นพอที่จะไถได้เสียก่อน ปกติจะต้องรอให้ฝนตกจนมีน้ำขังในผืนนาหรือไขน้ำเข้าไปในนาเพื่อทำให้ดินเปียก การไถดะ หมายถึง การไถครั้งแรกเพื่อทำลายวัชพืชในนา และพลิกกลับหน้าดิน แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงทำการไถแปร ซึ่งหมายถึง การไถเพื่อตัดกับรอยไถดะ ทำให้รอยไถดะแตกออกเป็นก้อนเล็ก ๆ จนวัชพืชหลุดออกจากดิน การไถแปรอาจไถมากกว่าหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับน้ำในนา ตลอดถึงชนิดและปริมาณของวัชพืช เมื่อไถแปรแล้วก็ทำการคราดได้ทันที การคราด คือ การคราดเอาวัชพืชออกจากผืนนา และปรับพื้นที่นาให้ได้ระดับเป็นที่ราบเสมอกันด้วย นาที่มีระดับเป็นที่ราบ ต้นข้าวจะได้รับน้ำเท่าๆกันและสะดวกแก่การไขน้ำเข้าออก
2. การตกกล้า หมายถึง การเอาเมล็ดไปหว่านให้งอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้าเพื่อเอาไปปักดำ การตกกล้าสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน
เช่น การตกกล้าในดินเปียก การตกกล้าในดินแห้งและการตกกล้าแบบดาปก
-การตกกล้าในดินเปียก จะต้องเลือกหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินดีเป็นพิเศษ สามารถป้องกันนกและหนูที่จะเข้าทำลายต้นกล้าได้เป็นอย่างดี และมีน้ำพอเพียงกับความต้องการ
การเตรียมดินก็มีการไถดะไถแปรและคราดดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้องยกเป็นแปลงสูงจากระดับน้ำในผืนนานั้นประมาณ 3 เซนติเมตร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เมล็ดที่หว่านลงไปจมน้ำและดินจนเปียกชุ่มอยู่เสมอ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรแบ่งแปลงนี้ ออกเป็นแปลงย่อยขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร และมี ความยาวขนานไปกับทิศทางลม ระหว่างแปลงเว้นช่องว่างไว้สำหรับเดินประมาณ 30 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อลดแรงระบาดของโรคที่จะเข้าไปทำลายต้นข้าวเช่นโรคไหม้ เมล็ดพันธุ์ที่เอามาตกกล้าจะต้องเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ ปราศจากเชื้อโรคต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จะต้องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์เสียก่อน โดยแยกเอามาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ และเอาเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าปกติทิ้งไป การคัดเลือกเอาเมล็ดที่สมบูรณ์อาจทำได้โดยเอาเมล็ดพันธุ์ไปใส่ในน้ำเกลือที่มีความถ่วงจำเพาะ 1.08 ซึ่งเตรียมไว้ โดยเอาน้ำสะอาด 10 ลิตรผสมกับเกลือแกงหนัก 1.7 กิโลกรัม เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์จะลอยส่วนเมล็ดสมบูรณ์นั้นจมลงไปที่ก้นของภาชนะเอาเมล็ดที่ต้องการตกกล้าใส่ถุงผ้าไปแช่น้ำนาน 12-24 ชั่วโมง แล้วเอาขึ้นมาวางไว้บนแผ่นกระดานในที่ที่มีลมถ่ายเทได้สะดวก และเอาผ้าหรือกระสอบเปียกน้ำคลุมไว้นาน 36-48 ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่า การหุ้ม หลังจากที่ได้หุ้มเมล็ดไว้ครบ 36-48 ชั่วโมงแล้วเมล็ดข้าวก็จะงอก จึงเอาไปหว่านลงบนแปลงกล้าที่ได้เตรียมไว้ ก่อนที่จะหว่านเมล็ดลงบนแปลงกล้าควรใส่ปุ๋ยพวกที่ให้ธาตุไนไตรเจน และฟอสฟอรัสเสียก่อน และใช้ไม้กระดานลูบแปลงเพื่อกลบปุ๋ยลงไปในดิน ปกติใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 50-80 กิโลกรัม/เนื้อที่แปลงกล้า 1 ไร่ เมื่อต้นกล้ามีอายุครบ 25-30 วัน นับจากวันหว่าน เมล็ดต้นกล้าก็จะมีขนาดโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ การตกกล้าแบบนี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในการทำนาดำในประเทศไทย
-การตกกล้าในดินแห้ง ในกรณีที่ชาวนาไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการตกกล้าในดินเปียก ชาวนาอาจทำการตกกล้าบนที่ดอนซึ่งไม่มีน้ำขัง โดยเอาเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ซึ่งยังไม่ได้เพาะให้งอก
ไปโรยไว้ในแถวที่เปิดเป็นร่องเล็กๆ ขนาดยาวประมาณ 1 เมตร จำนวนหลายแถว แล้วกลบดินเพื่อป้องกันนกและหนู หลังจากนั้นก็รดน้ำด้วยบัวรดน้ำวันละ 2-3 ครั้ง เมล็ดจะงอกขึ้นมาเป็นต้นกล้าเหมือนกับการตกกล้าในดินเปียก ปกติใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 7-10 กรัม/แถวที่มีความยาว 1 เมตรและแถวห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร หลังจากโรยเมล็ดและกลบดินแล้ว ควรหว่านปุ๋ยพวกที่ให้ธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในอัตราต่ำลงไปด้วย การตกกล้าในดินแห้งจะไม่ทำให้ต้นกล้าที่มีอายุมากกว่า 40 วันมีปล้องที่ลำต้น เหมาะสำหรับการตกกล้าที่ต้องรอน้ำฝนสำหรับปักดำ
-การตกกล้าแบบดาปก การตกกล้าแบบนี้เป็นที่นิยมทำกันมากในประเทศฟิลิปปินส์ ขั้นแรกทำการเตรียมพื้นที่ดินและแปลงกล้า ซึ่งเหมือนกับการตกกล้าในดินเปียกหรือจะเป็นที่ดอนเรียบก็ได้
แล้วใช้กาบของต้นกล้วยต่อกันเป็น กรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 1 เมตร และยาวประมาณ 1.5 เมตร วางลงบนพื้นที่ที่ได้เตรียมไว้ ต่อจากนั้นเอาใบกล้วยที่ไม่มีก้านกลางวางเรียง เพื่อปูเป็นพื้นที่ในกรอบนั้น ให้เอาด้านล่างของใบหงายขึ้น และไม่ให้มีรอยแตกของใบ เพราะฉะนั้นใบกล้วยที่ปูพื้นนั้นจะต้องวางซ้อนกันเป็นทอด ๆ แล้วเอาเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ซึ่งได้เพาะให้งอกแบบการตกกล้าในดินเปียก โรยลงไปในกรอบที่เตรียมไว้นี้ โดยใช้เมล็ดพันธุ์หนัก 3 กิโลกรัม/เนื้อที่ 1 ตารางเมตร ดังนั้น เมล็ดพันธุ์ที่โรยลงไปในกรอบจะซ้อนกันเป็น 2-3 ชั้น หลังจากโรยเมล็ดแล้ว จะต้องใช้บัวรดน้ำชนิดรูเล็กมาก รดลงในกรอบที่โรยเมล็ดนี้วันละ 2-3 ครั้ง ในที่สุดเมล็ดก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นกล้า ต้นกล้าแบบนี้อายุประมาณ 10-14 วัน ก็พร้อมที่ใช้ปักดำได้ การที่จะเอาต้นกล้าไปปักดำไม่จำเป็นต้องถอนต้นกล้าเหมือนกับวิธีอื่นๆเพราะรากของต้นกล้าเกาะกันแน่น ระหว่างต้น และรากก็ไม่ได้ทะลุใบกล้วยลงไปในดิน ฉะนั้น ชาวนาจึงทำการม้วนใบกล้วยแบบม้วนเสื่อโดยมีต้นกล้าอยู่ภายใน การม้วนก็ควรม้วนหลวม ๆ ถ้าม้วนแน่นจะทำให้ต้นกล้าเสียหายได้ เมื่อถึงแปลงปักดำก็จะคลี่มันออก แล้วแบ่งต้นกล้าไปปักดำ การตกกล้าวิธีนี้อาจเหมาะกับการทำกล้าซิมในภาคเหนือ (การทำกล้าซิม คือ การเอาต้นกล้าที่มีอายุ 10-15 วัน ไปปักดำในนา โดยปักดำถี่และปักดำกอละหลาย ๆ ต้น หลังจากกล้าซิมมีอายุได้ 20 วันก็พร้อมที่จะถอนไปปักดำตามปกติ)
3. การปักดำ เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 25-30 วัน จากการตกกล้าในดินเปียกหรือการตกกล้าในดินแห้ง ก็จะโตพอที่จะถอนเอาไปปักดำได้ สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการตกกล้าแบบดาปกนั้น
ในเมืองไทยยังไม่เคยปฏิบัติ ควรจะต้องเอาไปซิมแบบชาวนาในจังหวัดเชียงรายเสียก่อนจึงเอาไปปักดำได้ เพราะต้นกล้าขนาด 10-14 วันนั้น อาจมีขนาดเล็กเกินไปที่จะใช้ปักดำในพื้นที่นาของเรา ซึ่งมีน้ำขังมาก ขั้นแรกให้ถอนต้นกล้าขึ้นมาจากแปลงแล้วมัดรวมกันเป็นมัดๆตัดปลายใบทิ้งถ้าต้นกล้าเล็กมากไม่ต้องตัดปลายใทิ้ง สำหรับต้นกล้าที่ได้มาจากการตกกล้าในดินเปียก จะต้องล้างเอาดินที่รากออกเสียด้วยแล้วเอาไปปักดำในพื้นที่นาได้เตรียมไว้ พื้นที่นาที่ใช้ปักดำควรมีน้ำขังอยู่ประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพราะต้นข้าวอาจจะถูกลมพัดจนพับลงได้ในเมื่อนานั้นไม่มีน้ำอยู่เลยถ้าระดับน้ำในนานั้นลึกมาก ต้นข้าวที่ปักดำอาจจมน้ำในระยะแรก และทำให้ต้นข้าวต้องยืดต้นมากกว่าปกติจนมีผลให้แตกกอน้อยการปักดำที่จะให้ได้ผลิตผลสูง จะต้องปักดำให้เป็นแถวเป็นแนว และมีระยะห่างระหว่างกอมากพอสมควร การปักดำโดยทั่วไปมักใช้ต้นกล้าจำนวน 3-5 ต้นต่อกอระยะปลูกหรือปักดำจะต้องมีระยะห่างระหว่างกอและระหว่างแถวประมาณ 25 เซนติเมตร
-การหว่านสำรวย การหว่านวิธีนี้ชาวนาจะต้องเริ่มไถนาเตรียมดินตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งมีการไถดะ และไถแปร แล้วเอาเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้เพาะให้งอกหว่านลงไปโดยตรง ปกติใช้เมล็ดพันธุ์ 1-2 ถัง/ไร่
เมล็ด พันธุ์ที่หว่านลงไปบางส่วนจะตกลงไปอยู่ตามซอก ระหว่างก้อนดินและรอยไถ เมื่อฝนตกลงมา ทำให้ดินเปียกและเมล็ดที่ได้รับความชื้น ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้นกล้า การหว่านวิธีนี้ใช้เฉพาะในท้องที่ที่ฝนตกตามฤดูกาล การปลูกข้าวนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวโดยเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงไปในพื้นที่นาที่ได้ไถเตรียมดินไว้ การเตรียมดินก็มีการไถดะและไถแปรปกติชาวนาจะเริ่มไถนา เพื่อปลูกข้าวนาหว่านตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากพื้นที่นาสำหรับปลูกข้าวนาหว่านไม่มีคันนากั้นแบ่งออกเป็นผืนเล็กๆ จึงสะดวกแก่การไถด้วยรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวนาอีกจำนวนมากที่ใช้แรงวัวและควายไถนา การปลูกข้าวนาหว่านมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การหว่านสำรวยการหว่านคราดกลบหรือไถกลบการหว่านหลังขี้ไถและการหว่านนาตม
-การหว่านคราดกลบหรือไถกลบ ในกรณีที่ดินมีความชื้นอยู่บ้างแล้ว และเป็นเวลาที่ฝนจะเริ่มตกตามฤดูกาล ชาวนาจะปลูกข้าวแบบหว่านคราดกลบหรือไถกลบ โดยชาวนาจะทำการไถดะและไถแปร
แล้วเอาเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้เพาะให้งอกจำนวน 1-2 ถัง/ไร่ หว่านลงไปทันที แล้วคราดหรือไถ เพื่อกลบเมล็ดที่หว่านลงไปอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากดินมีความชื้นอยู่แล้ว เมล็ดก็จะเริ่มงอกทันทีหลังจากหว่านลงไปในดิน วิธีนี้ดูเหมือนว่าจะดีกว่าวิธีแรก เพราะเมล็ดจะงอกทันทีหลังจากที่ได้หว่านลงไป นอกจากนี้ การตั้งตัวของต้นกล้าก็ดีกว่าวิธีแรกด้วย เพราะเมล็ดที่หว่านลงไปถูกดินกลบฝังลึกลงไปในดิน
-การหว่านน้ำตม การหว่านแบบนี้นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีการชลประทานอย่างสมบูรณ์แบบ และพื้นที่นาเป็นผืนใหญ่ มีคันนากั้น การเตรียมดินก็เหมือนกับการเตรียมดินสำหรับนาดำ ซึ่งมีการไถดะไถแปรและคราด
เพื่อจะได้เก็บวัชพืชออกไปจากนาและปรับระดับพื้นที่นา แล้วทิ้งให้ดินตกตะกอนจนเห็นว่าน้ำใส และน้ำในนา ไม่ควรลึกกว่า 2 เซนติเมตร จึงเอาเมล็ดพันธุ์จำนวน 1-2 ถัง/ไร่ ที่ได้เพราะให้งอกแล้วหว่านลงไป เมล็ดก็จะเจริญเติบโตเป็นต้นข้าวและโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ มีการเจริญเติบโตอย่างข้าวอื่นๆ ตามปกติ

คำบางคำและความหมายของภาษาถิ่นกระโทก

ภาษาถิ่น (กระโทก) ความหมาย
โกรกกราก รีบด่วน
ข่อหล่อแข่แหล่ ไม่เป็นแก่นสาร
ขี่ซบร่อง ถูกโดยบังเอิญ
ขี่ฮดต๊ดหาย ขวัญหนีดีฝ่อ
เข่าเปียก ข้าวต้ม
เข่าต้ม ข้าวต้มมัด
งึด ประหลาด , อัศจรรย์
จำโอ อ้วก , อาเจียน
จั๊กเด่ ไม่รู้ , ไม่รู้จัก
จิเป็นไอ๋ จะเป็นอะไร
ดีกั่ว ดีกว่า
ดอกเด่ ต่างหาก เช่น อันนี้ของฉันดอกเด่


อาหารและขนมพื้นบ้าน

อาหารการกินของคนกระโทก จะเป็นอาหารที่หาได้จากรอบๆบ้านของตนเอง เช่น แกงบอน แกงหัวตาล แกงขี้เหล็ก แกงหน่อไม้ ส่นอาหารที่หารับประทานได้ยากในปัจจุบัน คือ

ผัดหมี่เครื่องปรุง (สำหรับ 2 ที่) ประกอบด้วย เส้นหมี่ 5 กำ เนื้อไก่หรือเนื้อหมู 3 ขีด พริกป่นครึ่งช้อนชา เต้าเจี้ยว 2 ช้อนโต๊ะ น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลปี๊บ 3 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมบด 10 กลีบ ถั่วงอก 100 กรัม มะขามเปียก หัวหอมแดงซอย 5 หัว ต้นหอมสด 5 ต้น ไข่ 1-2 ฟอง น้ำมันหมู ตั้งกระทะใส่น้ำมันหมูให้ร้อน เจียวหอมและกระเทียมให้เหลือง ใส่เนื้อไก่หรือเนื้อหมูลงผัดพอสุก แล้วใส่น้ำตาลปี๊บ เคี่ยวจนกระทั่งเป็นสีน้ำตาล ใส่เต้าเจี้ยว น้ำมะขามเปียก พริกป่นตามชอบ ใส่น้ำพอสมควร ชิมรสเปรี้ยวหวานตามใจชอบ ทิ้งไว้ให้เดือด ใส่เส้นหมี่โดยไม่ต้องแช่น้ำ ผัดเส้นจนแห้ง หากเส้นหมี่ยังไม่นิ่มให้เติมน้ำทีละน้อย ใส่ไข่ทีละฟอง พลิกกลับไปกลับมา ใส่ถั่วงอกหรือต้นหอม ผัดหมี่โคราชอาจพลิกแพลงเครื่องประกอบตามความนิยม เช่น อาจใส่ปลาป่น ต้นหอมหรือผักคะน้าก็ได้ แต่ที่สำคัญคือผัดแล้วจะต้องไม่มีน้ำมันเยิ้ม เท่านี้เราก็จะได้มื้อโปรด หมี่โคราช อาหารพื้นเมืองไว้รับประทานกัน


แกงไข่น้ำ นำเอาไข่ล้างให้สะอาด แล้วใส่หม้อไม่ต้องใส่น้ำแต่อย่างใด เครื่องปรุงมีใบมะกรูดหัวข่า ตะไคร้ตัดเป็นท่อนๆ หอมกระเทียมทุบๆ พอบุบ ใส่น้ำปลา พอสุกก็นำไปรับประทานได้


ลาบปู เป็นอาหารพื้นบ้านอย่างหนึ่งมีรับประทานตามฤดูกาลช่วงทำนา ไปขุดหาตามรูปู ได้ปูมาก็แกะกระดองออกเอาเฉพาะท้อง แล้วนำไปโขลกให้ละเอียดแล้วกรองเอาแต่น้ำ เมื่อได้น้ำปูก็เอาไปต้ม
เครื่องปรุงมี พริกแกง น้ำปลา ใส่กระเบือแต่พอสมควร พอน้ำปูเดือดพอเริ่มข้นก็ยกลง เอาใบชะพลูซอยฝอยๆใส่ลงไป จะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน เอาผักดิบมาจิ้มรับประทานกับข้าวสวย


ข้าวแผะ ที่ชาวโคราชเรียก เข่าแพะ เป็นอาหารเอกลักษณ์ของชาวโคราชอีกชนิดหนึ่งที่เป็นอาหาร จาน(ชาม)เดียว ที่มีคุณค่าของสารอาหารครบหมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรตจากข้าว โปรตีนจากเนื้อสัตว์
ไขมัน จากกะทิ เกลือแร่และวิตามินจาก เครื่องปรุงและผักนานาชนิด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่ไม่นิยมรับ ประทาน บางคนไม่รู้จักอาหารชนิดนี้เลย


ข้าวปาด เป็นขนมพื้นบ้านของโคราช ที่ทำจากแป้งข้าวจ้าว น้ำตาลทราย น้ำปูนใส แป้งข้าวจ้าวได้มาจากการเอาปลายข้าว เจ้าแช่น้ำ พอนิ่มนำมาโม่ให้ละเอียดเสร็จแล้วใส่ถุงผ้าดิบมัดปากถุงให้แน่น
ใช้หินส่วนบนของโม่ทับไว้ให้น้ำแป้งไหลออกจนเหลือ แต่เนื้อแป้ง เมื่อแห้งดีจึงนำมานวดกับน้ำที่ผสมด้วยน้ำตาล จึงนำไปกวนเพื่อให้แป้งสุก ลักษณะของแป้งที่สุก คือ แป้งใสและข้น ถ้าจะให้ขนมสีสวยและหอมนิยมใส่ น้ำใบเตย ที่เรียกว่าข้าวปาด เพราะกวนจนแป้งสุกแต่ยังเหลว ๆ จนสามารถตักปาดใส่ถาดได้ เมื่อขนมเย็นแล้ว ตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูน เวลากินขูดมะพร้าวเป็นเส้น ๆ ผสมกับเกลือเล็กน้อยโรยหน้า


ขนมนางเล็ด เป็นขนมพื้นบ้าน วิธีการทำขนมนางเล็ด ดังนี้ อุ่นข้าวเหนียวให้ร้อน เตรียมไว้ตักข้าวเหนียวใส่ลงในพิมพ์ กดแผ่แป้งเป็นแผ่นบาง ๆ จนเต็มพิมพ์ เคาะออกจากพิมพ์ นำไปตากแดดจนแห้ง
เตรียมไว้ใส่น้ำมันลงในกระทะ นำขึ้นตั้งไฟปานกลางจนร้อน ใส่ข้าวเหนียวที่ตากไว้ลงทอดจนพองเต็มที่ตักขึ้นสะเด็ดน้ำมันเตรียมไว้ใส่น้ำตาลปี๊บและน้ำลงในหม้อ นำขึ้นตั้งไฟอ่อน เคี่ยวจนน้ำตาลละลาย ค่อย ๆ ตักหยอดเป็นเส้น ๆ ลงบนขนม พักทิ้งไว้สักครู่จนน้ำตาลแข็งตัว จัดใส่จานให้สวยงาม พร้อมรับประทาน


ขนมลอดช่อง มีวิธีทำดังนี้ ทำน้ำกะทิโดย ใส่น้ำตาลปี๊บ เกลือป่น และกะทิลงในอ่างผสม ใช้มือขยำส่วนผสมเข้าด้วยกันจนน้ำตาลปี๊บละลายเข้ากันดีกรองด้วยตะแกรง นำส่วนผสมน้ำกะทิขึ้น
ตั้งไฟปานกลาง เคี่ยวจนน้ำกะทิใกล้เดือด(ให้ส่วนผสมเดือดเฉพาะตรงกลาง ไม่เดือดพล่าน เพื่อไม่ให้กะทิแตกมัน) ประมาณ 10-15 นาที ปิดไฟ ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนเย็น เตรียมไว้(สามารถทำไว้ล่วงหน้าหรือทำทิ้งไว้ข้ามคืนได้)ใส่ใบเตยลงในเครื่องปั่นตามด้วยน้ำปูนใส6-7ถ้วย ปั่นจนละเอียดจากนั้นคั้นเอาเฉพาะน้ำเตรียมไว้ ใส่แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง และแป้งถั่วเขียวลงไปในน้ำใบเตย โดยปล่อยให้แป้งค่อย ๆ จมลงไปในน้ำจนหมด (เทคนิค : ปล่อยให้แป้งจมลงไปในน้ำเอง รอประมาณ 1 นาที โดยไม่ต้องคน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า แป้งจะได้ไม่จับตัวเป็นก้อน และละลายเข้ากับน้ำทั้งหมด) พอแป้งจมลงหมดแล้ว ค่อย ๆ คนผสมจนเข้าดีจากนั้นกรองด้วยตะแกรงเตรียมไว้ใส่ส่วนผสมลงในกระทะก้นลึกขนาดใหญ่ นำขึ้นตั้งไฟปานกลาง กวนผสมตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง พอแป้งเริ่มเหนียวเทน้ำปูนใสที่เหลือลงไปจนหมดกวนจนส่วนผสมเหนียวและมีสีใสตักส่วนผสมแป้งใส่เครื่องกดลอดช่อง กดแป้งเป็นเส้น ๆ ลงในน้ำเย็นจัด จากนั้นตักส่วนผสมขึ้น ใส่ลงในถ้วย ตามด้วยน้ำกะทิที่เตรียมไว้ และน้ำแข็ง




การประกอบอาชีพของคนในชุมชนและการละเล่นของชุมชน

อาชีพประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน โดยอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แม่น้ำลำมูล ลำพระเพลิง ลำสำลาย และลำคลองที่แยกมาจากแม่น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้
มีความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในการประกอบอาชีพ โดยใช้เครื่องมือที่จัดทำขึ้นเอง เช่น ไซ ลอบ หมวง สวิง เบ็ด แห ลี่

การละเล่น มักใช้อุปกรณ์ที่หาง่าย เช่น วิ่งเปี้ยว ลิงชิงหลัก กระโดดเชือก เล่นตี่จับ เล่นหมากเก็บ มอญซ่อนผ้า เล่นกุบกิบ เดินขาหย่าง

หน้าแรก