โบราณสถาน

ปรางค์พะโค


ปราสาทหินบ้านพะโค หรือ ปรางค์พะโค ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครนครราชสีมา
หากเดินทางจากตัวจังหวัด ตามถนนหลวงหมายเลข 224 ผ่านแหล่งเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนอันเลื่องชื่อของเมืองโคราช ประมาณ 30 กิโลเมตรก็จะมาถึงตัวอำเภอโชคชัย เดินทางต่อจากตัวเมืองโชคชัยไปทางอำเภอครบุรี ด้วยทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2071 อีกประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร ก็จะพบปราสาทองค์เล็ก ๆ ทางด้านขวามือ ด้วยเพราะปราสาทหินพะโคเป็นปราสาท"ขนาดเล็ก" ไม่ได้ตั้งอยู่ในเส้นทางโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของเมืองโคราช เช่นเดียวกับ ปราสาทหินใหญ่ ๆ อย่างปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมวัน ปราสาทเมืองแขก เมืองเสมา ฯลฯ จึงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวหลงทางแวะมาชมกันมากนัก เรียกได้ว่าถ้าจะมาก็ต้องตั้งใจมากันจริง ๆ แล้วค่อยตัดเดินทางไปตามเส้นทางลัดสาย สูงเนิน - โชคชัย เดินทางลัดไปจังหวัดบุรีรัมย์ เฉพาะที่อำเภอปักธงชัย ใกล้เคียงกับปราสาทพะโคก็มีปราสาทขนาดเล็กที่สร้างเพื่อเป็นปราสาท "สรุก" หรือเทวาลัยประจำชุมชนโบราณ ถึง 8 หลัง เช่น ปราสาทบ้านนาแค ปราสาทบึงคำ ปราสาทสระหิน ปราสาทบ้านปรางค์ ฯ ในอำเภอโชคชัยก็มีอยู่ 3 ปราสาทและมีปราสาทหินน้อยใหญ่รวม 34 แห่ง ทั่วเขตจังหวัดนครราชสีมา บางแห่งก็บูรณะแล้ว บางแห่งก็ยังมีสภาพรกร้างเดิม ๆ ดิบอยู่ ปราสาทหินตามชุมชนโบราณขนาดเล็กทั้งหลายนี้ ส่วนใหญ่จะมีสภาพพังทลายไม่สมบูรณ์ เพราะต้องผจญกาลเวลามายาวนานกว่าพันปีบ้าง เกือบพันปีบ้าง ปราสาทหินจึงมี "ความไม่สมบูรณ์" ที่หลากหลาย ทั้งแบบที่ยังสร้างไม่เสร็จก็หยุดสร้าง เพิ่งเริ่มสร้างยังไม่ทันแกะสลักลายก็หยุดสร้าง หรือถูกทำลายจากภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว บ้างก็มีต้นไม้ ป่ารกขึ้นปกคลุมแทนเพราะไม่มีชุมชนมาใช้ประโยชน์หรือมาคอยดูแลรักษา บางปราสาท ฐานล่างต้องรับทั้งน้ำฝน ความชื้นและความร้อน ก็ล้วนแต่จะช่วยทำให้หินทรายเกิดปฏิกิริยาพองและกรอบ จึงรับน้ำหนักด้านบนที่กดทับลงมาไม่ไหวก็แตกกร่อนพาให้ด้านบนพังทลายลงมา บางปราสาทก็อาจถูกผู้คนในยุคหลังเข้ามารื้อทำลาย ทั้งเพื่อนำหินไปสร้างปราสาทหรือศาสนสถานตามคติความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการค้นหาทรัพย์สมบัติและโลหะที่มีค่าไปใช้ประโยชน์ ปราสาทหินและโบราณสถานหลายแห่งล้วนเสื่อมสภาพและพังทลายตามเงื่อนไขที่กล่าวมาทั้งสิ้น บางปราสาทหินก็อาจจะเจอสองเด้งทั้งภัยธรรมชาติและจากน้ำมือของมนุษย์
คำว่า "พะโค" มาจากคำว่า "ปะโค" ซึ่งเป็นชื่อเมืองเก่าแก่ในนิทานภาคอีสาน เรื่องหอนางอุษาหรืออุสา-บารส หรืออาจจะมาจากคำเขมรว่า "เปรียะโค" แปลว่า "พระโค(วัว)"
ชาวบ้านในพื้นที่ปัจจุบันน่าจะเคลื่อนย้ายมาจากทางอีสานเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว จึงนำชื่อเรียกใหม่สวมทับปราสาทในภายหลังครับ สภาพก่อนการบูรณะนั้น ปราสาทมีสภาพเป็นโคกเนินดินทับถมขนาดใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกรุงรัง มีกองหิน อิฐและเศษรูปสลักกระจัดกระจายอยู่บนเนิน มีร่องรอยการขุดหาของเก่าหลายหลุม บางโรงเรียนโดยรอบปราสาทได้มานำทับหลังและรูปสลักหินไปเก็บไว้ บางทีก็เป็นบ้านคนมาเก็บไป บางทีก็เป็นวัดมาเก็บ มีการลักลอบนำลายแกะสลักหินที่แตกหักออกจากปราสาทไปบ่อยครั้ง ปราสาทพะโคในสายตาของผมในเวลานั้นอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง ตามความเห็นและข้อสันนิษฐานของผม ปราสาทหินองค์นี้ เป็นปราสาทที่สวยงามและอลังการที่สุดในบรรดาปราสาททางทิศใต้ของเขตเมืองโคราช อายุของปราสาทอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 -16 ฝีมือช่างแกะสลักระดับช่างหลวงคลาสลิค แบบแผนศิลปะเทียบเคียงได้กับศิลปะเกลียงหรือคลังในประเทศกัมพูชา
ลักษณะของปราสาทเป็นปรางค์เดี่ยว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีปรางค์น้อยที่หลายคนเรียกว่าบรรณาลัยจำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าแนวเหนือและใต้ แต่ผมไม่คิดว่าจะเป็นบรรณาลัย
(ห้องสมุดหรือห้องพิธีพราหมณ์) ตามเขา เพราะมีหลักฐานของยอดปราสาทถึงสามยอด ที่แกะสลักได้อ่อนช้อยงดงามกว่าที่ไหน ๆ วางกองทนโท่อยู่ ก็แสดงว่าเป็นปราสาทสามหลัง สามใบเถาแน่ ๆ ที่ยอดปราสาทยังคงอยู่ก็เพราะน้ำหนักหินทรายสลักก็ไม่ใช่น้อย ๆ จึงไม่มีใครสนใจจะขนไปเป็นที่ระลึก
ปรางค์พะโค "อาจจะ" ถูกทำลายโดยผู้คนชุมชนใหม่ในยุคพุทธศตวรรษที่ 17 ที่ย้ายเข้ามาใหม่ ซึ่งอาจจะทำลายโดยตั้งใจเพื่อรื้อตัวปราสาทให้ถล่มลงเพราะเป็นปราสาทที่ขัดแย้งความเชื่อ
ในคติบูชาเทพเจ้าของตน หรือ อาจจะเข้ามาพบปราสาทร้างและต้องการนำหินไปใช้เพื่อสร้างปราสาท "สรุก" ศูนย์กลางท้องถิ่นของตนใหม่ จึงทำการรื้อถอนปราสาทด้วยวิธีการการล้อมเชือกโดยรอบแล้วใช้ช้างลากหรือแรงงานคนชักคะเย่อ จนปราสาทถล่มล้มลงมาทั้งหลังหลังจากลำเลียงหินทรายก้อนที่เป็นโครงสร้างปราสาทไปแล้ว ก็จะทิ้งหินทรายที่มีรูปแกะสลักเดิมไว้ เพราะไม่ต้องการนำไปใช้ เราจึงยังพบทั้งเสากรอบประตูสลักลวดลายสวยงาม กรอบประตูหน้าต่าง ทับหลัง หน้าบันและยอดปราสาทครบทั้งสามหลังทิ้งไว้ รวมกันกับกองปราสาทจำลอง หินสลักจำนวนมากอยู่ในสภาพแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และมีร่องรอยหลักฐานของการกระทบกระแทกหินกันอย่างรุนแรงปรากฏอยู่มากมาย
ปรางค์พะโค เป็นปราสาทที่มีความงดงามโดดเด่น มีลวดลายแกะสลักที่วิจิตรบรรจง แต่ก็ซ่อนเร้น ยากที่จะเดินทางไปเยี่ยมเยือน แต่หากมีโอกาสสักครั้ง ก็ไม่ควรพลาดที่จะเจาะจงเข้าไป
ชมปราสาทองค์นี้ที่อำเภอโชคชัย และควรแวะไปดูชิ้นส่วนงานแกะสลักของปราสาทที่กระจัดกระจายไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ในตัวเมืองโคราชและที่เมืองพิมาย
หน้าแรก