ความรู้เรื่องสี

ความรู้เรื่องสี

        สีที่เรามองเห็น เกิดจากตาของเรารับแสงที่สะท้อนจากวัตถุ  ความยาวของคลื่นแสงที่แตกต่างกัน  ส่งผลให้เรามองเห็นสีที่แตกต่างกันและสำหรับคอมพิวเตอร์กราฟิกนั้นจะผสมสีที่เกิดจากแสงแสดงบนจอภาพ หรือการผสมหมึกสีพิมพ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์

ความลึกของสี  ( Bit Depth )

คอมพิวเตอร์สร้างและแสดงสีในภาพได้หลายล้านสี ดังนั้น คอมพิวเตอร์จะมีวิธีการจดจำและอ้างอิงค่าสีโดยอาศัยดัชนีตารางสี  เช่น การ์ดจอที่แสดงสีได้  2  บิต  จะแสดงสีได้ 4 สี เพราะคอมพิวเตอร์จะเก็บข้อมูลใน 1 บิต ได้ 2 ค่า คือ  0 และ 1 เราจึงคำนวณจำนวนสีได้ตามสูตร คือ

จำนวนสีที่แสดงได้ = 2 ยกกำลังด้วย จำนวนบิต

        เช่น การ์ดจอที่แสดงสีได้ 24 บิต ก็จะแสดงสีได้  = 224  =  16.7 ล้านสี  เป็นต้น

โมเดลของสี ( Color  Model ) 

โดยทั่วไปสีในธรรมชาติและสีที่สร้างขึ้น จะมีรูปแบบการมองเห็นสีที่แตกต่างกัน  ซึ่งรูปแบบการมองเห็นสีนี้เรียกว่า “โมเดล (Model)”  จึงทำให้มีโมเดลหลายแบบ  ต่อไปนี้

  • โมเดลแบบ HSB ตามหลักการมองเห็นสีของสายตามนุษย์
  • โมเดลแบบ RGB ตามหลักการแสดงสีของเครื่องคอมพิวเตอร์
  • โมเดลแบบ CMYK ตามหลักการแสดงสีของเครื่องพิมพ์
  • โมเดล Lab ตามมาตรฐานของ CIE

        โมเดลแบบ HSB ตามหลักการมองเห็นสีของสายตามนุษย์

เป็นลักษณะพื้นฐานการมองเห็นสีด้วยสายตาของมนุษย์ โมเดล HSB จะประกอบด้วยลักษณะของสี 3 ลักษณะคือ

  1. Hue เป็นสีของวัตถุที่สะท้อนเข้ามายังตาของเรา ทำให้เราสามารถมองเห็นวัตถุเป็นสีได้ ซึ่งแต่ละสีจะแตกต่างกันตามความยาวของคลื่นแสงที่มากระทบวัตถุและสะท้อนกลับที่ตาของเรา Hue ถูกวัดโดยตำแหน่งการแสดงสีบน Standard Color Wheel ซึ่งถูกแทนด้วยองศา  0 ถึง 360 องศา แต่โดยทั่วๆ ไปแล้วมักจะเรียกการแสดงสีนั้นๆ เป็นชื่อของสีเลย เช่น สีแดง สีม่วง สีเหลือง
  2. Saturation คือสัดส่วนของสีเทาที่มีอยู่ในสีนั้น โดยวัดค่าสีเทาในสีหลักเป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้ จาก 0% (สีเทาผสมอยู่มาก) จนถึง 100% (สีเทาไม่มีเลย หรือเรียกว่า “Full Saturation” คือสีที่มีความอิ่มตัวเต็มที่) โดยค่า Saturation นี้จะบ่งบอกถึงความเข้มข้นและความจางของสี ถ้าถูกวัดโดยตำแหน่งบน Standard Color Wheel ค่า Saturation จะเพิ่มขึ้นจากจุดกึ่งกลางจนถึงเส้นขอบ โดยค่าที่เส้นขอบจะมีสีที่ชัดเจนและอิ่มตัวที่สุด
  3. Brightness เป็นเรื่องราวของความสว่างและความมืดของสี ซึ่งถูกกำหนดค่าเป็นเปอร์เซ็นต์จาก 0% (สีดำ) ถึง 100% (สีขาว) ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์มากจะทำให้สีนั้นสว่างมากขึ้น

โมเดลแบบ RGB ตามหลักการแสดงสีของเครื่องคอมพิวเตอร์

โมเดล RGB เกิดจากการรวมกันของสเปกตรัมของแสงสี แดง (Red),   เขียว (Green), และน้ำเงิน (Blue) ในสัดส่วนความเข้มข้นที่แตกต่างกัน โดยจุดที่แสงทั้งสามสีรวมกันจะเป็นสีขาว นิยมเรียกการผสมสีแบบนี้ว่า “Additive” แสงสี RGB มักจะถูกใช้สำหรับการส่องแสงทั้งบนจอทีวีและจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งสร้างจากการให้กำเนิดแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน ทำให้สีดูสว่างกว่าความเป็นจริง

โมเดลแบบ CMYK ตามหลักการแสดงสีของเครื่องพิมพ์

โมเดล CMYK มีแหล่งกำเนิดสีอยู่ที่การซึมซับ (Absorb) ของหมึกพิมพ์บนกระดาษ โดยมีสีพื้นฐานคือสีฟ้า (Cyan), สีบานเย็น (Magenta), และสีเหลือง (Yellow) โดยเรียกการผสมสีทั้ง 3 สีข้างต้นว่า “Subtractive Color” แต่สี CMYK ก็ไม่สามารถผสมรวมกันให้ได้สีบางสี เช่น สีน้ำตาล จึงต้องมีการเพิ่มสีดำ (Black) ลงไป ฉะนั้นเมื่อรวมกันทั้ง 4 สี คือ CMYK สีที่ได้จากการพิมพ์ จึงจะครอบคลุมทุกสี

โมเดลแบบ Lab ตามมาตรฐานของ CIE

โมเดล Lab เป็นค่าสีที่ถูกกำหนดขึ้นโดย CIE (Commission Internationale d’ Eclarirage) ให้เป็นสีมาตรฐานกลางของการวัดสีทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกสีใน RGB และ CMYK และใช้ได้กับสีที่เกิดจากอุปกรณ์ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่องสแกนและอื่นๆ ส่วนประกอบของโหมดสีนี้ได้แก่

  • L หมายถึง  ค่าความสว่าง (Luminance)
  • A หมายถึง ส่วนประกอบที่แสดงการไล่สีจากสีเขียวไปยังสีแดง
  • B หมายถึง ส่วนประกอบที่แสดงการไล่สีจากสีน้ำเงินถึงสีเหลือง

        ระบบสีที่ถูกกำหนดขึ้นพิเศษ

เป็นระบบสีที่ถูกสร้างขึ้นมาใช้ในคอมพิวเตอร์กราฟิก และอยู่นอกเหนือ จากโมเดลของสีทั่วไป ดังนี้

  • Bitmap ประกอบด้วยค่าสีเพียง 2 สี คือสีขาวและสีดำ ใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลเพียง 1 บิต งานที่เหมาะสำหรับ Bitmap คืองานประเภทลายเส้นต่าง ๆ เช่น เครื่องหมาย และโลโก้
  • Gray Scale ประกอบด้วยสีทั้งหมด 256 สี โดยไล่สีจากสีขาว สีเทาไปเรื่อยๆ จนท้ายสุดคือสีดำ ใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูล 8 บิต
  • Duotone เป็นโหมดที่เกิดจากการใช้สีเพียงบางสีมาผสมกันให้เกิดเป็นภาพ เรามักจะเห็นการนำไปใช้ในงานสิ่งพิมพ์ที่ต้องการใช้ภาพ 2 สี เป็นต้น
  • Indexed color ถึงแม้บางภาพจะมีสีได้ถึง 16.7 ล้าน แต่ส่วนใหญ่จะใช้ไม่ถึง ในกรณีที่เราต้องการลดขนาดไฟล์ภาพก็อาจใช้โหมดนี้ ซึ่งจะทอนสีให้เหลือใกล้เคียงกับที่ต้องใช้ โดยไม่มีผลกับคุณภาพของภาพ
  • Multichannel เป็นโหมดสีที่ถูกแสดงด้วย Channel ตั้งแต่ 2 Channel ขึ้นไป ใช้ประโยชน์มากสำหรับงานพิมพ์ โดยเฉพาะกรณีการพิมพ์ที่สั่งให้พิมพ์สีพิเศษ

 

Comments

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

* 8+2=?

โรงเรียนโชคชัยสามัคคี