หน่วยที่ 1 คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน

        คอมพิวเตอร์  หมายถึง  เครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความสามารถในการคำนวณอัตโนมัติตามคำสั่ง ส่วนที่ใช้ประมวลผลเรียกว่า หน่วยประมวลผล ชุดของคำสั่ง ที่ระบุขั้นตอนการคำนวณ เรียกว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์  ผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นอาจเป็นได้ทั้ง  ตัวเลข  ข้อความ  รูปภาพ  เสียง  หรืออยู่ในรูปอื่นๆ

        ประวัติความเป็นมาของคอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นผลมาจากการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือในการคำนวณซึ่งมีวิวัฒนาการนานมาแล้ว เริ่มจากเครื่องมือในการคำนวณเครื่องแรกคือ “ลูกคิด” (Abacus) ที่สร้างขึ้นในประเทศจีน เมื่อประมาณ 2,000-3,000 ปีมาแล้ว

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2376 นักคณิตศาสต์ชาวอังกฤษ ชื่อ ชาร์ล แบบเบจ (Charles Babbage) ได้ประดิษฐ์เครื่องวิเคราะห์ (Analytical Engine) สามารถคำนวณค่าของตรีโกณมิติ ฟังก์ชั่นต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ การทำงานของเครื่องนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนเก็บข้อมูล ส่วนคำนวณ และส่วนควบคุม ใช้ระบบพลังเครื่องยนต์ไอน้ำหมุนฟันเฟือง มีข้อมูลอยู่ในบัตรเจาะรู คำนวณได้โดยอัตโนมัติ และเก็บข้อมูลในหน่วยความจำ ก่อนจะพิมพ์ออกมาทางกระดาษ

หลักการของแบบเบจนี้เองที่ได้นำมาพัฒนาสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ เราจึงยกย่องให้แบบเบจเป็น บิดาแห่งเครื่องคอมพิวเตอร์

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ได้มีผู้ประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมามากมายหลายขนาด ทำให้เป็นการเริ่มยุคของคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง   โดยสามารถจัดแบ่งคอมพิวเตอร์ออกได้เป็น 5 ยุค

  • ยุคที่หนึ่ง (First Generation Computer) พ.ศ. 2489-2501
  • ยุคที่สอง (Second Generation Computer) พ.ศ. 2502-2506
  • ยุคที่สาม (Third Generation Computer) พ.ศ. 2507-2512
  • ยุคที่สี่ (Fourth Generation Computer) พ.ศ. 2513-2532
  • ยุคที่ห้า (Fifth Generation Computer) พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน

การประดิษฐ์เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิใช่เครื่องคำนวณ โดยเมาช์ลีและเอ็กเคอร์ต (Mauchly and Eckert) ได้นำแนวความคิดนั้นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากเครื่องหนึ่งเรียกว่า ENIAC (Electronic Numerical Integrator and Calculator) ซึ่งต่อมาได้ทำการปรับปรุงการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น  และได้ประดิษฐ์เครื่อง UNIVAC (Universal Automatic Computer) ขึ้นเพื่อใช้ในการสำรวจสำมะโนประชากรประจำปี ซึ่ง UNIVAC เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่ถูกใช้งานในเชิงธุรกิจ จึงนับเป็นการเริ่มของเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคแรกอย่างแท้จริง

        ความสำคัญของคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน  ปัจจุบันคอมพิวเตอร์มีบทบาทอย่างมากในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้ง

  • ด้านธุรกิจ การสื่อสารและธุรกิจ การเลือกซื้อสินค้า เพราะสะดวก รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว และประหยัดพลังงานด้านบุคลากร
  • ด้านการศึกษา ใช้พิมพ์รายงาน นำเสนอผลงาน ทำสื่อการเรียนการสอน สามารถเข้าเรียนวิชาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต บางหลักสูตรเรียนฟรี บางหลักสูตรมีค่าใช้จ่าย การสืบค้นข้อมูล ทำได้อย่างรวดเร็วทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ค้นหาบทความ ข่าวสาร  รูปภาพต่างๆ
  • ด้านความบันเทิง สามารถอ่านหนังสือ ฟังเพลง ชมรายการต่างๆ ของสถานีโทรทัศน์ และเล่นเกมเพื่อการศึกษาหาความรู้ ฝึกทักษะด้านต่างๆ และผ่อนคลายความเครียด

นอกจากนี้ยังมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกิจการโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ของผู้ผลิตหุ่นยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ผลิตหุ่นยนต์ออกมา เพื่อใช้ทำงานแทนมนุษย์อีกด้วย

        บทบาทและประโยชน์ของคอมพิวเตอร์  คอมพิวเตอร์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกอาชีพ ทั้งนักเรียนนักศึกษา  ทุกองค์กร  รวมถึงคนทั่วไปและผู้ใช้ตามบ้านด้วย  โดยแบ่งเป็นด้าน ได้ดังนี้

  • ด้านงานราชการ  หน่วยงานทางราชการจะใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดเก็บข้อมูล เช่น ที่ว่าการอำเภอ ใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บข้อมูลการแจ้งเกิด แจ้งตาย ย้ายที่อยู่ หรือทำบัตรประชาชน
  • ด้านงานสื่อสารโทรคมนาคม  คอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญในการควบคุมระบบการจราจรทางบกและทางอากาศ ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบของเส้นทางการจราจร
  • ด้านงานการศึกษา  การเรียนการสอนในปัจจุบัน ได้นำคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)  ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง และทบทวนเนื้อหาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (e-learning) ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
  • ด้านงานวิทยาศาสตร์และการแพทย์  นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ได้นำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการศึกษา คำนวณ ค้นคว้า วิจัย และจำลองสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และสร้างผลงานใหม่ๆ เช่น การพยากรณ์อากาศ การสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรธรณี การใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

Comments

comments

โรงเรียนโชคชัยสามัคคี