คนลักษณะอย่างไรจึงเรียนคอมพิวเตอร์ได้

ใครที่ยังไม่ทราบว่าจะเรียนทางสายคอมพิวเตอร์ดีหรือไม่  หรือไม่ทราบว่าตัวเองจะเรียนได้หรือไม่  หรือเรียนไปแล้วจะทำงานได้หรือไม่  คนที่เรียนเก่งไม่จำเป็นว่าจะต้องทำงานประสบผลสำเร็จเสมอไป หรือจะต้องเก่งเสมอไป  เป็นคำกล่าวที่มีส่วนจริงครับ  เพราะการเรียนมันจบเป็นปีๆ อาจเก่งได้ ถ้าขยัน แต่การทำงานมันต้องวัดกันระยะยาว จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ มันใช้ความรู้หลายด้าน ใช้ศาสตร์หลายศาสตร์ แต่การเรียนนั้นเรียนเป็นวิชา ๆ ไปส่วนหนึ่งผมคิดว่าการทำงานกับการเรียนมันสอดคล้องกัน  เราควรเลือกเรียนให้ตรงกับลักษณะความถนัด  ความชอบของเรา  เพราะถ้าเราถนัดหรือชอบอะไร เรามักจะทำมันได้นานกว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ  ทำให้เราประสบผลสำเร็จได้ดีกว่าสิ่งที่เราฝืนทำ วันนี้จะพูดถึงลักษณะของผู้ที่จะเลือกเรียนสายเทคโนโลยีหรือทางคอมพิวเตอร์ครับ ว่าควรจะมีลักษณะอย่างไร หรือควรปรับตนเองอย่างไร ให้เป็นผู้ที่จะประสบผลสำเร็จในทางนี้ได้

  1. ต้องเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ  (ขี้เกียจ)  พวกนี้จะชอบคอมพิวเตอร์  เพราะคอมพิวเตอร์มันไม่บ่นเรื่องการทำงานซ้ำๆ และมันสามารถทำได้แม่นยำและรวดเร็วด้วย
  2. ต้องเป็นคนที่ชอบพัฒนาตนเองเสมอ  ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ถึงแม้จะแก่จะเฒ่า  เพราะเทคโนโลยี ทางด้านนี้เปลี่ยนเร็ว  ตกรุ่นเร็ว  เราต้องตามให้ทัน  ไม่อย่างนั้น  เราก็ไม่สามารถทำงานด้านนี้อยู่ได้นานนัก  เพราะถ้ายิ่งนานเทคโนโลยีเปลี่ยนไป จะกลายเป็นทำไม่ได้  จะดูด้อยค่าไปเรื่อยๆ  ความมั่นใจจะน้อยลง  น้อยลง
  3. ชอบคิด  ชอบทำ  ชอบวางแผน  เพราะคอมพิวเตอร์จะทำงานตามคำสั่งของคนครับ  คอมพิวเตอร์จะเก่งสมรุ่นของคอมพิวเตอร์  ก็ขึ้นอยู่กับการสั่งงานของผู้ใช้ครับ  ถ้าคนใช้ไม่เก่ง  คอมพิวเตอร์ก็ไม่เก่งครับ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า คอมพิวเตอร์เป็นทาสที่ซื่อสัตย์ที่สุด สั่งอย่างไรทำอย่างนั้น  ไม่มีเถียง   สั่งโง่ๆ  ก็ทำให้แบบโง่ๆ ครับ
  4. ต้องเป็นผู้ที่มนุษย์สัมพันธ์ดี  และต้องมีความรู้หลายๆ ศาสตร์ หลายๆ ด้าน เพราะคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยการทำงานครับ  พูดง่ายๆ มันคือหุ่นยนต์ก็ได้ครับ  ดังนั้นทุกองค์กร หรือทุกๆ ที่มีคอมพิวเตอร์ใช้หมด แต่ใช้กันไปคนละด้าน  แล้วแต่ว่าองค์กรนั้นทำอะไร  เช่น บริษัทบัญชี  บริษัทขาย บริษัทเพลง บริษัทศิลปะ  วัด โรงเรียน บ้าน ทุกที่คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่สำคัญหมดขาดไม่ได้  แต่ไม่มีที่ใดเลยที่คอมพิวเตอร์เป็นพระเอก มีแต่เป็นพระรอง คือนำคอมพิวเตอร์ไปช่วยงานนั้น  งานนี้  ดังนั้น ผู้ที่เรียนทางคอมพิวเตอร์ จึงต้องประสานงานกับอาชีพอื่นๆ ศึกษาหาความรู้ทางด้านศาสตร์อื่นๆ  เพื่อนำระบบงานเหล่านั้นมาจัดลงบนคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงาน  เรียกว่า  การวิเคราะห์และออกแบบระบบ แล้วพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มาสั่งให้คอมพิวเตอร์ช่วยทำงานนั้นๆ โดยมีผู้ที่มีความรู้เรื่องนั้นๆ เป็นคนใช้งานคอมพิวเตอร์เรื่องนั้น ๆ  แทน
  5. ถ้าเราไม่มีลักษณะเหมือนทั้ง 4 ข้อเลย  เราก็สามารถเรียนได้ครับ แต่จะไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะสุดท้ายแล้วเราก็จะเป็นเพียงผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ต่างกับผู้ที่จบสาขาอื่นๆ มากนัก เพราะเขาก็เรียนการใช้คอมพิวเตอร์มาเหมือนกัน อาจจะเป็นผู้ใช้ที่เก่งกว่าคนที่จบคอมพิวเตอร์มาด้วย  เพราะเขามีความรู้ศาสตร์ของเขามาด้วยครับ
  6. ถ้าใครที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว  ถ้ามีลักษณะไม่ตรงกับตนเองเลย  แต่อยากเรียนทางคอมพิวเตอร์จริงๆ ก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ครับ   ถ้าเรารู้จุดอ่อนเราตรงไหนแล้วเราก็รีบแก้ไข จุดอ่อน เรียกว่าเตรียมตัว เตรียมใจไปแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้สำเร็จได้ครับ
  7. ขอแสดงความยินดีกับเพื่อนร่วมอาชีพทางสายคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ครับ

Comments

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

* 6+0=?