อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในงานกราฟิกและประโยชน์คอมพิวเตอร์กราฟิก

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในงานกราฟิก

        คอมพิวเตอร์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการสร้างงานกราฟิกได้หลายประเภท จึงมีอุปกรณ์มากมายที่ถูกนำมาใช้ร่วมกับโปรแกรมต่างๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในงานกราฟิกที่พบเห็นบ่อยๆ มีดังนี้

        อุปกรณ์นำเข้า (Input Device) คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่นำเข้าคำสั่งหรือข้อมูล

  • สแกนเนอร์ (Scanner) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อ่านหรือสแกนข้อมูลหรือภาพถ่ายบนเอกสารเข้าไปในคอมพิวเตอร์ ได้รูปแบบเป็นภาพ โดยใช้แสงส่องกระทบวัตถุให้สะท้อนไปตกบนตัวรับแสงทีละแถว ข้อมูลจะถูกแปลงเป็นจุดเล็กๆ ในแบบดิจิตอลเข้าไปเก็บในคอมพิวเตอร์ ต่อเนื่องกันทีละแถวของจุด จนกว่าจะจบภาพ
  • กล้องดิจิตอล (Digital Camera) สามารถถ่ายภาพในรูปแบบดิจิตอล ที่มีความละเอียดสูง ถึง 3 – 4 ล้านพิกเซลขึ้นไป เหมาะกับการใช้งานกราฟิก
  • จอสัมผัส (Touch Screen) เป็นจอที่ให้ผู้ใช้ใช้นิ้วชี้ที่หน้าจอ เพื่อสั่งงานบนหน้าจอได้ งานที่นิยมใช้หน้าจอแบบทัชสกรีน เช่น เครื่อง ATM (Automate Teller Machines), เกม, และซูเปอร์มาร์เก็ต
  • ปากกาแสง (Light Pen) เป็นอุปกรณ์รับข้อมูลที่ทำงานด้วยการตรวจจับแสงบนหน้าจอ CTR ของคอมพิวเตอร์ ใช้ในการคลิกเลือก และวาดบนหน้าจอเหมือนการใช้ Touch Screen แต่จะทำงานด้วยการตรวจจับแสงซึ่งใช้กับจอ CTR เท่านั่น ไม่สามารถทำงานกับจอ LCD หรือ Projector ทั่วไปได้
  • กระดานกราฟิก (Graphic Tablet) เป็นอุปกรณ์ที่รองรับการวาดภาพ สามารถทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง สนับสนุนกับโปรแกรมกราฟิกต่างๆ เช่น Photoshop, Illustrator เป็นต้น ทำให้สามารถวาดภาพ และแก้ไขภาพได้ จะแสดงผลเป็นภาพอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นหน้าจอ TFT เหมือนเครื่อง Tablet PC ซึ่งสามารถวาดภาพอยู่บนหน้าจอแสดงผลได้โดยตรง

        อุปกรณ์ในการแสดงผล (Output Device) คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แสดงผล

  • เครื่องพิมพ์ (Printer) เครื่องพิมพ์ใช้แสดงผลงานลงบนกระดาษได้ทั้งตัวอักษรและรูปภาพ ปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบ เพื่อการใช้งานต่างกัน ดังนี้
  1. เลเซอร์พรินเตอร์ ทำงานโดยการยิงลำแสงเลเซอร์ เพื่อจัดเรียงผงหมึกให้เกิดเป็นภาพที่ต้องการ จากนั้นก็ใช้แรงดันและความร้อนผลักให้หมึกจับตัวติดกับเนื้อกระดาษ ผลลัพธ์มีความละเอียดมากที่สุด และมีความเร็วสูงสุดในบรรดาเครื่องพิมพ์ทั้งหมด เครื่องพิมพ์เลเซอร์มี 2 แบบ คือ ขาว/ดำ และสี ซึ่งแบบขาว/ดำ จะมีราคาอยู่ที่หมื่นกว่าบาท นิยมใช้ในงานพิมพ์เอกสารในสำนักงาน ส่วนแบบสีจะมีราคาอยู่ที่แสนกว่าบาท ซึ่งเหมาะกับงานกราฟิกชั้นสูง
  2. อิงค์เจ็ตพรินเตอร์ (Inkjet Printer) ใช้หลักการพ่นหมึกผ่านทางท่อพ่นหมึก เกิดจุดสีเล็กๆ เรียงต่อกันจนเกิดเป็นภาพ มีความละเอียดน้อยกว่าเลเซอร์นิดหน่อย ราคาเครื่องถูก แต่หมึกแพง และพิมพ์ช้ากว่าเลเซอร์ เหมาะสำหรับงานสี อาร์ตเวิร์ค สิ่งพิมพ์ และถ่ายสติ๊กเกอร์ หากจะใช้พิมพ์งานเอกสารสำนักงานทั่วไป ที่เป็นขาวดำ ราคาหมึกต่อแผ่น จะราคาสูงกว่าเครื่องพิมพ์เลเซอร์ อีกทั้งความละเอียด และความเร็วน้อยกว่ามาก
  3. ดอตเมทริกซ์พรินเตอร์ (Dot Matrix Printer) จะใช้หัวเข็มกระแทกลงบนแผ่นหมึกคาร์บอน ทำให้เกิดรอยหมึกเป็นข้อความและภาพ ดอตเมทริกซ์เป็นพรินเตอร์ที่มีความละเอียดต่ำ ราคาหมึกถูก ราคาเครื่องปานกลาง แต่พิมพ์ช้าและมีเสียงดัง ไม่ค่อยนิยมใช้ในปัจจุบัน แต่มีประโยชน์ในด้านการพิมพ์ที่มีสำเนา ซึ่งยังมีการใช้งานอยู่เป็นจำนวนมากในงานสำนักงาน
  4. พล็อตเตอร์ (Plotter) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วาดภาพบนกระดาษ โดยการรับคำสั่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่จะทำงานแตกต่างจากพรินเตอร์ตรงที่พล็อตเตอร์ จะวาดภาพโดยการวาดเป็นเส้น ด้วยปากกาแต่ละสีวาดผสมกัน ส่วนเครื่องพิมพ์จะพิมพ์ลงมาเป็นจุดสีคละกัน เกิดเป็นภาพ เราใช้พล็อตเตอร์ในการวาดแบบอาคาร หรือแบบทางวิศวกรรม ที่ถูกสร้างด้วยโปรแกรมออกแบบต่างๆ

ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์กราฟิก

  • การช่วยสอน ปัจจุบันคอมพิวเตอร์กราฟิกช่วยสื่อความหมายในการสอน หรืออธิบายเนื้อหาในเรื่องที่ซับซ้อนให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เรียกสื่อการสอนเหล่านี้ว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน CAI (Computer Aided Instruction) เช่น โปรแกรมช่วยสอนทางการแพทย์ และโปรแกรมช่วยสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
  • การออกแบบ คอมพิวเตอร์กราฟิกในงานออกแบบ หรือที่เรียกว่า CAD (Computer Aided Design) ใช้โปรแกรมช่วยออกแบบและสร้างชิ้นงานจำลองก่อนที่จะสร้างงานจริง ช่วยให้สามารถปรับแต่งและแก้ไขก่อนทำงานจริง ช่วยลดความผิดพลาด เวลา ค่าใช้จ่าย และได้ผลงานตรงกับที่ต้องการมากที่สุด เช่นโปรแกรมการออกแบบในงานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เป็นต้น
  • กราฟและแผนภาพ ใช้โปรแกรมสร้างกราฟและแผนภาพ เพื่อแสดงข้อมูลสรุปเปรียบเทียบทางด้านสถิติและงานวิจัย เช่น กราฟเส้น กราฟวงกลม และกราฟแท่ง เป็นต้น
  • งานศิลปะ ใช้วาดภาพ ระบายสี และใส่แสงเงา มีข้อดีตรงที่สามารถลบและแก้ไขในส่วนการทำงานที่ผิดพลาดได้ตามต้องการ โดยไม่ทำให้เสียเวลาและไม่สิ้นเปลืองวัสดุเหมือนกับวาดภาพบนกระดาษ หรือผืนผ้าใบ
  • การทำภาพเคลื่อนไหว ใช้ในการออกแบบและกำหนดให้เกิดการเคลื่อนไหว หรือเรียกว่า Computer Animation เช่น การ์ตูน เป็นต้น นอกจากนี้ยังประยุกต์สร้างเป็นเกมที่เน้นความเสมือนจริงมากยิ่งขึ้นด้วย
  • การประมวลผลภาพ ( Image Processing) เป็นการประมวลผลภาพที่ได้จากการสแกนหรือถ่ายภาพ ให้ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นการรับสีและแสงเงาที่อยู่บนภาพและวัตถุ มาประมวลผลเป็นข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล จากนั้นแสดงเป็นภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ พบได้ในการสแกนภาพ การถ่ายภาพผ่านดาวเทียม และการเอ็กซเรย์ เป็นต้น

 

Comments

comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

* 6+2=?

โรงเรียนโชคชัยสามัคคี